วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

การปลูกตำลึง

ตำลึง



เป็นผักพื้นบ้านที่คนทั่วไปรู้จักกันมานานเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาก สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น แกงจืด ต้มจิ้มน้ำพริก ใส่ก๋วยเตี๋ยวและต้มเลือดหมูเป็นต้น ในอดีตนั้นเราไม่จำเป็น ต้องปลูกตำลึงเอาไว้รับประทานเอง เนื่องจากตำลึงมักพบเห็นทั่วไปตามเถาไม้เลื้อยอื่น ตามพุ่มไม้เตี้ยหรือพุ่มไม้ แห้งตายรวมทั้งขึ้นตามริมรั้วบ้าน จนมีคำกล่าวถึง "ตำลึงริมรั้ว" อยู่เสมอ


แต่ในปัจจุบันเราไม่ค่อยพบตำลึงตามริมรั้วอีกแล้ว จะเห็นก็เฉพาะในที่รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ก็ตามสวนที่ปลูกตำลึงไว้เพื่อการค้า ซึ่งสามารถทำรายได้อย่างงามแก่ผู้ปลูกตำลึงขายเป็นอย่างดี




ลักษณะทางพฤกษศาสตร์



ตำลึงเป็นไม้เถาเลื้อย เถาตำลึงมีลักษณะกลมสีแยกเพศกันอยู่คนละต้น ปลายดอกแยกออกเป็น 5 แฉก โคนติดกันเป็นกรวย ผลมีรูปร่างกลมรีคล้ายแตงกวาแต่มีขนาดเล็กกว่า ผลอ่อนมีสีเขียวลายขาวเมื่อแก่กลายเป็นสีแดง




คุณค่าทางอาหาร



ตำลึงเป็นผักใบเขียวเข้ม มีคุณค่าทางอาหารสูงมีทั้งเบต้า - แคโรทีน ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด ทั้งให้แคลเซียมและสารอาหารอื่น ๆ ที่พร้อมกันมาช่วยให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนี้ยังพบว่า ตำลึงยังประกอบได้ด้วยเส้นใย ที่มีความสามารถในการจับไนไตรทได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นนี่เป็นคุณลักษณะพิเศษของตำลึง ที่มีเส้นใยคอยจับไนไตรทเพราะเป็นการลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม






ที่มา กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตารางแสดงคุณค่าอาหารทางโภชนาการของไทย (2535)
* วิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
RE ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล

การปลูกและการขยายพันธุ์

ตำลึงมีการปลูกและขยายพันธุ์ได้ 2 วิธีคือ
* เพาะเมล็ด
* ปักชำด้วยเถา

การเพาะเมล็ด

มีวิธีการง่ายดังนี้

เตรียมดินเหมือนปลูกผักทั่วไปผสมปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกก็ได้ นำผลตำลึงแก่สีแดง แกะเอาเมล็ดออกมาโรยบนดินที่เตรียมไว้ โรยดินกลบหรือใช้ใบไม้แห้งกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น ตำลึงชอบดินชุ่มแต่อย่าให้แฉะเพราะจะเกิดโรคโคนเน่าได้เมื่อต้นงอกขึ้นมาสักประมาณ 5 ซ.ม. เริ่มมีมือเกาะให้ทำค้าง (เนื่องจากตำลึงไต่ขึ้นสู่ที่สูงเพื่อรับแดด) เหมาะที่สุดคือ ความสูงระดับ 1 เมตรขึ้นไปแต่ไม่ควรสูงเกิน 3 เมตร เพราะไม่สะดวกในการเก็บยอดตำลึง โดยใช้ไม้ไผ่ต้นเล็ก 3 ต้นปักเป็น 3 เส้า รอบปลายเชือกเข้าไว้ด้วยกัน ผูกด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกปอ ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพื่อช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง หรือหากมีรั้วไม้ระแนงก็ถือโอกาสใช้ประโยชน์โดยโรยเมล็ดไปตามริมรั้วเลยทีเดียว


ตำลึงต้องได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ลมโกรกผ่านได้ ตำลึงจะสังเคราะห์แสงแดดคายไอน้ำได้เต็มที่ ควรปล่อยให้มดแดงขึ้น เพราะจะช่วยกินเพลี้ยและแมลงที่จะมากัดกินตำลึง

ปักชำด้วยเถา

การปลูกตำลึงเพื่อการค้านั้นนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้เนื่องจากตำลึงจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการเพาะด้วยเมล็ด

วิธีการปักชำ

ให้นำเถาที่แก่พอสมควรมาตัดให้ยาว 15 - 20 ซม. ปักชำในหลุมปลูกที่ได้เตรียมไว้แล้ว (ลักษณะขั้นตอนการปลูกเหมือนกับหัวข้อการเพาะเมล็ด) พอเจริญเติบโตเต็มที่ประมาณ 1 เดือนก็สามารถเก็บยอดมาปรุงอาหารได้

ทั้งนี้ เพื่อให้ตำลึงแตกยอดใหม่ทยอยออกมาตลอดปี ต้องหมั่นเก็บมาบริโภคอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันให้ใส่ปุ๋ยคอก ช่วยเพิ่มเติมอาหารในดินประมาณเดือนละครั้ง ต้องหมั่นรดน้ำสม่ำเสมอในหน้าแล้งและหน้าหนาวส่วนหน้าฝนจะเว้นได้บ้างแต่ต้องช่วยรดน้ำในขณะที่ฝนทิ้งช่วง



1 ความคิดเห็น: