วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ละครคาบูกิ

5. ตัวละคร



ลักษณะเด่นที่สุดของ คาบูกิ ในฐานะที่เป็นนาฎศิลป์ เมื่อเทียบกับละครประเภทต่าง ๆ แล้ว อาจจะคือการที่ ละครคาบูกิ ยกความสำคัญให้ตัวละครนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ บทละครขั้นอมตะของ "คาบูกิ" ส่วนใหญ่จึงต้องให้ นักเขียนบทที่ทำงานสังกัดโรงละครคาบูกิ สร้างบทให้โดยเฉพาะ นักเขียนประเภทนี้จึงต้องพิถีพิถันในการศึกษา จุดเด่นและจุดอ่อนของผู้แสดงแต่ละคน เท่า ๆ กับการศึกษาค้นคว้าให้เข้าถึงเรื่องที่จะเขียนบทออกมา และนักเขียนเหล่านี้มักจะต้องประสบกับยากลำบากนานัปการในการสร้างบทออกมาให้เหมาะสมกับอัจฉริยะพิเศษในตัวนักแสดงเหล่านี้ บ่อยครั้งที่นักแสดงเห็นว่าการแสดงเป็นเพียงหนทางเพื่อการนำแสดงของตน จึงได้เปลี่ยนบทเจรจาและ พล้อตเรื่องตามอารมณ์ของตน

กระนั้น จากการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ความยิ่งใหญ่ของละครคาบูกิมาจากนักแสดง การพิจารณาคัดเลือกตัวละครคาบูกิก็ยึดหลักเที่ยงตรงที่สุด นับแต่นาฏศิลป์ คาบูกิ ได้อุบัติขึ้นบนรากฐานที่เป็นแบบแผนของตัวเองโดยเฉพาะมาก่อนแล้วทุก ๆ คน วิธีการนี้ได้กลายเป็นกฎตายตัวขึ้นมาเองว่าใครก็ตามที่ใฝ่ฝันใคร่จะเป็นดาราละครคาบูกิจะต้องเริ่มต้นฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นต้นมาเสียก่อนจึงจะมีโอกาส "เข้าถึง" ศิลปการแสดงนี้ได้อย่างแท้จริง เขาจะต้องทำการฝึกฝนนาฎศิลป์สาขาต่าง ๆ ให้มีความรู้ ด้วยเหตุที่คาบูกิคือละครรำประเภทหนึ่ง ดังนั้นการฝึกฟ้อนรำแบบญี่ปุ่นและดนตรีญี่ปุ่นจึงเป็นส่วนสำคัญของการฝึกฝนอบรมดังกล่าว

พึงตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เทคนิคสำคัญในการแสดงละครคาบูกินั้นมิได้อยู่ที่ดาราในขณะนั้นคิดขึ้นมาด้วยตนเอง แต่เป็นผลิตผลความสามารถต่าง ๆ ที่ได้จากดารารุ่นก่อนนั้น ๆ สร้างไว้ และตกทอดกันมาเรื่อย ๆ หลายชั่วอายุคนและมักเป็นสมบัติตกทอดกันมาเป็นตระกูล ๆ ฉะนั้นปัจจุบันนี้ยังมีตระกูลดาราละครคาบูกิที่สืบวิชากันมาถึง 17 ชั่วอายุคนอยู่หลายตระกูล ในสังคมระบอบฟิวดัลยุค "เอโด" นั้น กฎหมายควบคุมสิทธิการสืบเชื้อสายเกือบมิจำเป็นต้องบัญญัติขึ้น อีกประการหนึ่งคุณลักษณะของศิลปะละครคาบูกิ จำเป็นต้องพึ่งผู้ฝึกและผู้ชำนาญในศิลปการแสดงทางนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นระบบภายในครอบครัวจึงเหมาะสมอย่างยิ่ง แม้ทุกวันนี้วงการละครคาบูกิ ก็ยังต้องยึดวิธีการดังกล่าวกันอยู่และยังถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าจะไปหาตัวผู้สันทัดกรณีด้านนี้จากวงการอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป เพราะการได้ตัวผู้สันทัดจากตระกูลละครเก่าจะช่วยทำนุบำรุงรักษาศิลป บูกิ ให้คงความยิ่งใหญ่ไว้ได้อย่างแท้จริงต่อไป




มีอยู่ยุคหนึ่งที่ถือกันเป็นประเพณีว่าตัวละครแต่ละคนจะต้องเล่นแต่บทที่ตนมีความสามารถเป็นพิเศษเท่านั้น ประเพณีนี้ทำให้ต้องศึกษาคุณสมบัติลักษณะของชายหญิงประเภทต่าง ๆ ด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษ การเลือกเฟ้นลักษณะประจำตัวของนักแสดงทำนองนี้ได้ลดความเข้มงวดกันแล้ว นักแสดงคาบูกิ สมัยนี้ส่วนมากล้วนมีความสามารถในการแสดงคนละหลาย ๆ อย่างทั้งนั้น ยกเว้นเฉพาะ "อนนะงาตะ" หรือการแสดงเป็นผู้หญิงในเรื่องนั่นเอง เคล็ดลับความงามของ อนนะงาตะ ที่แสดงออกบนเวทีนั้น ขึ้นอยู่กับการอวดความงามอันละเมียดละไมของอิสตรีที่สร้างขึ้นเทียมความงามตามธรรมชาติ แต่มิใช่ธรรมชาติโดยสายตาของชายที่มองดูอุปนิสัยและจิตวิทยาของเพศตรงข้าม


ในยุคระบอบฟิวดัลนั้น นักแสดงคาบูกิ ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังในหมู่ประชาชนทั่วไปก็ตามแต่กลับมีสภาพชีวิตอยู่ในฐานะอันต่ำต้อยมาก ทุกวันนี้ฐานะความเป็นอยู่ของนักแสดงคาบูกิได้เขยิบสูงขึ้นมาก ซึ่งดาราเด่น ๆ บางคนได้รับพิจารณาคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกศิลปบัณฑิตยสภาญี่ปุ่น อันเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับศิลปิน


นักแสดงละคร คาบูกิ ทุกคนต่างก็มีสร้อยชื่อประจำสำนักโดยเฉพาะต่อท้ายชื่อตัวทุก ๆ คนเรียกว่า "ยาโก" (yago) ตัวอย่างเช่น ดาราชื่อ คันซาบุโร นาคามูระ, โซโรกุ โอโนเอะ และ อูตาเอะมอน นาคามูระ ต่างก็มีสร้อยชื่อต่อท้ายแสดงสำนักไว้ด้วย เช่น "นาคามูระยะ" (nakamuraya), "โอโตวายะ" (otowaya) และ "นาริโกะมายะ" (narikomaya) ธรรมเนียมการใช้สร้อยชื่อเฉพาะนี้ยังมีเป็นการพิเศษประการหนึ่ง คือแฟนละครจะร้องเชียร์สร้อยชื่อประจำสำนักของดารานักแสดงที่เขาติดใจขณะปรากฏตัวออกมาสู่เวที หรือตอนออกโรงแสดงบนเวที


ในการแสดงละคร คาบูกิ นั้น จะมีคนที่มิใช่นักแสดงออกมาปรากฏตัวหน้าเวทีอยู่ตอนหนึ่งโดยเฉพาะในตอนแรกเริ่มทันทีที่เปิดฉาก ผู้ชมจะสังเกตเห็นว่ามีคนแต่งเสื้อคลุมสีดำคลุมตลอดถึงศีรษะออกมาปรากฎตัวทันทีอยู่หลังนักแสดง คนเหล่านี้เรียกว่า "คูโรโกะ" (kurogo) (มนุษย์เงาดำ) มีหน้าที่ออกมาจัดที่ทางให้เข้ากับฉากในขณะที่มีการเปิดม่านออก และทำหน้าที่เป็นผู้บอกบทไปด้วยโดยไม่ได้เข้าร่วมแสดง และคนดูก็ไม่ได้ให้ความสนใจ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น