วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ละครคาบูกิ

ประวัติเดิม









"คาบูกิ" เป็นนาฎศิลป์ประจำชาติอีกชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น มีประวัติย้อนหลังไปถึงสมัยปลายศตวรรษที่ 16 ซึ่งได้มีการปรับปรุงและวิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็นนาฎศิลป์อันวิจิตรของประเทศอย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ขึ้นหน้าขึ้นตาเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต แต่ทุกวันนี้ละคร คาบูกิ ยังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวญี่ปุ่น และแม้ในปัจจุบันนี้การแสดงคงยังดึงดูดผู้ชมเป็นจำนวนมากเสมอ




ระหว่างที่ละครนี้เคยเฟื่องฟู เช่น ในยุค "เอโด" (Yedo) อันเป็นสมัยที่ละคร คาบูกิ ได้รับการปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ ตรงกับสมัยที่ชนชั้นนักรบกับสามัญชนมีการแบ่งแยกชั้นกันอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ในประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่น ศิลปการละคร "คาบูกิ" กลับกลายเป็นเครื่องมืออำนวยประโยชน์ให้แก่พ่อค้าวานิชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำในยุคโน้น ซึ่งนับวันก็ยิ่งมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงถูกจัดชั้นเข้าในระดับสามัญชนอยู่นั่นเอง "คาบูกิ" สำหรับชนชั้นพ่อค้าดูจะกลายเป็นศิลปสัญญลักขณ์เด่นที่สุดที่ส่อให้เห็นจินตนาการของพ่อค้าในยุคดังกล่าว การแสดงละครในยุคนั้นจึงยึงคติส่อถึงความขัดแย้งระหว่างมนุษยธรรมกับระบอบฟิวดัล จากผลของศิลปการแสดงในด้านมนุษยธรรมนี้เอง ที่ช่วยให้ละคร "คาบูกิ" ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปในยุคนั้นตราบกระทั่งมาถึงปัจจุบัน



หลักสำคัญที่เป็นศิลป "คาบูกิ" ซึ่งน่าจะถือเป็นสัญญลักขณ์อันแท้จริงที่แสดงถึงแก่นแท้แห่งวิญญาณนาฏศิลป์นี้ก็คือ ไม่มีการใช้ผู้หญิงแสดงเลย บทบาทของตัวละครหญิงในเรื่องทุกเรื่องของ "คาบูกิ" แสดงโดยผู้ชายผู้มีฝีมือในด้านนี้โดยเฉพาะ เรียกกันว่า "อนนะงาตะ " (onnagata) ตัวละคร "คาบูกิ" ในยุคเริ่มแรกนั้นส่วนใหญ่ใช้ผู้หญิงแสดง ต่อมาเมื่อมีผู้นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักแสดงผู้หญิงก็เริ่มมีผู้ชายที่หลงใหลในบทบาทของเธอเข้ามาพัวพันในชีวิตส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทางการวิตกว่าสภาพการณ์ดังกล่าวนี้หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป วงการนาฏศิลป์ คาบูกิ อาจจะเสื่อมความนิยมจากประชาชนไปก็ได้ ในปี พ.ศ. 2172 จึงได้มีการประกาศห้ามมิให้ใช้ผู้หญิงแสดงในละครชนิดนี้โดยเด็ดขาด



แต่ละ คาบูกิ ในรูปของนาฏศิลป์ได้เป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชนอยู่แล้ว แม้ผู้ชายจะเข้ามาแสดง "คาบูกิ" แทนผู้หญิงโดยทันที ประชาชนก็ยังคงนิยมละครคาบูกิแสดงโดยผู้ชายตลอดมาจนปัจจุบันนี้ การห้ามผู้หญิงเข้าแสดงในละครชนิดนี้มีผลมาราว ๆ 250 ปี ขณะเดียวกันนั้นเอง "คาบูกิ" ก็มีการปรับปรุงวิวัฒนาการมาสู่นาฏศิลป์ "อนนะงาตะ" โดยสมบูรณ์ กลายเป็นศิลปการแสดงที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าร่วมแสดงด้วยอีกเลย แม้เมื่อได้มีการยกเลิกคำสั่งนี้ห้ามนี้ไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นศิลป "อนนะงาตะ" ได้กลายเป็นองค์ประกอบอันสมบูรณ์ของละคร "คาบูกิ" ซึ่งหากตัดศิลปนี้ออกไปเสียคุณลักษณะประจำของ "คาบูกิ" ก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิงทีเดียว



ลักษณะประจำที่สำคัญของละคร "คาบูกิ" อีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นละครที่ผสมผสานเอาการเล่นต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เป็นแบบเฉพาะอย่างหนึ่ง นับแต่มีการริเริ่มขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ละคร "คาบูกิ" ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยการผสมผสานเอาการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในสมัยก่อน ๆ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในบรรดานาฎศิลป์ประจำชาติที่ละคร "คาบูกิ" ได้รวบรวมเอาเทคนิคการแสดงและการกำกับมาใช้ ก็ได้ละคร "โนห์" (Noh) และการเล่นที่เรียกว่า "เกียวเงน" (Kyogen) หรือการเล่นตลกสลับฉากระหว่างการแสดงละคร "โนห์" ทุกวันนี้จำนวนชาวญี่ปุ่นที่มองเห็นคุณค่าของละคร "โนห์" อันแท้จริงนับวันก็จะลดน้อยลงไปกว่าจำนวนผู้ที่โปรดปรานการแสดง "คาบูกิ" ไปทุกขณะ แต่การแสดง "คาบูกิ" ที่ปรับปรุงหรือนำเอารูปแบบของละคร "โนห์" เข้ามารวมไว้ด้วยกลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นรูปแบบการแสดงอย่างหนึ่งที่จะขาดไปจากคุณลักษณะทั้งหมดของ "คาบูกิ" เสียมิได้

การเล่นอีกชนิดหนึ่งที่กลมกลืนอยู่ในนาฎศิลป์ "คาบูกิ" ก็คือหุ่นกระบอก หรือที่เรียกกันว่า "บุนระกุ" (Bunraka) เป็นการเล่นที่เกิดขึ้นไล่ ๆ กับละคร "คาบูกิ" ในระยะแรก ๆ นั้นเอง การแสดงละคร "คาบูกิ" นั้น ถือเอาตัวละครเป็นหลักสำคัญมากกว่าหลักอื่นใด เช่น คุณค่าทางบทละครที่นำมาเล่น เป็นต้น ระหว่างต้น ๆ ศตวรรษที่ 17 มีนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่บางท่านรวมทั้งมอนซาเอมอน ชิคามัตสุ ผู้ได้รับฉายาว่า "เชคสเปรียร์แห่งญี่ปุ่น" ได้วางมือจากการแต่งบทละครคาบูกิที่ยึดให้ตัวแสดงเป็นเอก หันมาแต่งบทละครหุ่นกระบอกซึ่งไม่เข้มงวดนักในด้านการเน้นบทบาทของตัวแสดงเอกเหมือน "คาบูกิ" ด้วยเหตุนี้ จึงมีอยู่ยุคหนึ่งที่การเล่นหุ่นกระบอกกลายเป็นการแสดงที่บดบังความสามารถของนักแสดงละครไประยะหนึ่ง และเป็นยุคที่หุ่นกระบอกได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายยิ่งกว่าละคร "คาบูกิ" เพื่อเอาชนะการเล่นชนิดนี้ จึงได้มีการปรับปรุงละคร "คาบูกิ" โดยรับเอาการเล่นแบบหุ่นกระบอกเข้ามารวมไว้ด้วยทั้งหมด ฉะนั้น ทุกวันนี้ละคร "คาบูกิ" ที่แสดงอยู่มากกว่าครึ่งยกเว้นกลุ่มละครรำรวมจึงกำหนดให้มีการแสดงนาฏศิลป์ต้นแบบ "บุนระกุ" เข้าไว้ด้วย ตัวอย่างอันสมบูรณ์จากการแสดงผสมผสานต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็น "คาบูกิ" ในบั้นปลายได้มีขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งรวบรวมเอาจินตนิยายเข้ามาผสมจนกลายเป็นศิลปการแสดงของละครชนิดนี้ขึ้นด้วย

ประชาชนญี่ปุ่นยังไม่เคยได้ชมละครชนิดใดที่จะแสดงทั้งสีสันอันวิจิตรตระการตา งามโอ่อ่าตื่นเต้นประทับใจครบทุกรส เหมือนการชมละคร "คาบูกิ" มาก่อนเลย โดยคุณลักษณะเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่า คงไม่มีละครแบบใด ๆ ในโลกที่จะอาจเทียบได้กับละคร "คาบูกิ" ของญี่ปุ่น






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น